Concept of electricity transport to hourse
Concept of electricity transport to hourse

Circuit

Electrical

กว่าไฟฟ้า จะเดินทางมาถึงเรา

โดย Nitichat Luangaram

11 กุมภาพันธ์ 2566

ตลอดทั้งวันที่เรานั่งทำงาน ดูหนัง ฟังเพลง เเละทำกิจกรรมต่างๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าไฟฟ้าที่เอามาจ่ายอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นมาจากไหน วันนี้เรามาดูให้ลึกมากขึ้นหน่อยว่ากระบวนการต่างๆ กว่าจะมีไฟฟ้ามาใช้ตามบ้านเรานั้นมีที่ไปที่มายังไง

ระบบจำหน่ายไฟฟ้าเเบ่งออกเป็น 6 ส่วน เริ่มที่ Power grid station หรือโรงไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากการนำเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน มาผลิตไฟฟ้าโดยเปลี่ยนพลังงานในรูปเเบบต่างๆ ให้มาเป็นพลังงานไฟฟ้า โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม รวมไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ เช่น โซลาร์ฟาร์ม เขื่อนผลิตไฟฟ้า เเละกังหันลม พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็จะมีกำลังเป็น MW หรือ GW ตามที่ต้องการ กำลังเหล่านี้ก็จะถูกส่งออกไปและจ่ายให้กับบ้านของเรา

โรงไฟฟ้าโดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้กับเเหล่งพลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะอยู่ห่างไกลจากบ้านเราหลายร้อยกิโลเมตร ดังนั้นการส่งกำลังไฟฟ้ามาใช้จะทำให้เเรงดันตก (ปกติจะผลิตไฟฟ้าที่เเรงดัน 10-20 kV) เเละไม่สามารถส่งถึงปลายทางได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีส่วนต่อไปคือ Transmitting substation ในส่วนนี้จะมีอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่สำคัญคือ “หม้อเเปลงไฟฟ้า” ที่ช่วยในการเพิ่มเเรงดันให้มีค่าสูงมากๆ เเต่ยังคงสามารถส่งกำลังได้ค่าตามเดิม โดยกำลังไฟฟ้านี้จะถูกทำให้ค่าเเรงดันสูงประมาณ 230 kV เเละส่งกำลังไฟฟ้าผ่าน Transmission Network ที่เป็นตัวกลางในการส่งผ่านกำลังไฟฟ้า โดยตัวกลางนี้จะเป็นสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ ปกติเราจะเห็นมันเป็นสายเหนือหัวที่มีเสาเหล็กใหญ่ๆตั้งอยู่ ออกต่างจังหวัดก็จะพอเห็นกันบ่อยๆ ในส่วนนี้เเละคือส่วนของโรงไฟฟ้าที่พูดไปในส่วนเเรก จะอยู่ในความดูเเลของการไฟฟ้าผ่ายผลิต (กฟผ.) นั้นเอง

ในส่วนของ Transmission Network อาจจะมีระบบส่งไฟฟ้าย่อยหรือ Subtransmission system ในการทำให้เเรงดันลดลงก่อนที่จะนำไปจ่ายให้กับบ้านเรือน โดยระบบนี้จะมี substation ที่มีหม้อเเปลงลดเเรงดันจาก 230 kV ไปเป็น 115 kV หรือ 69 kV ขึ้นอยู่กับความหนาเเน่นของโหลดในบริเวณนั้นๆด้วย ซึ่งในส่วนนี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเป็นผู้กำหนด

หลังจากนี้ก็คือ Receiver substation และ Distribution network ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายก่อนที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าไปในบ้านพวกเราจริงๆ โดย Receiver substation จะเเปลงเเรงดันให้ตำ่ลงมาอีกในระดับที่ค่อนข้างปลอดภัย เพราะในส่วนนี้จะเริ่มเข้ามาในบริเวณที่อยู่อาศัยจำนวนมากเเล้ว โดยแรงดันที่เเปลงลงมาคือ 24 kV, 12 kV (กฟน.) หรือ 22kV, 33kV (กฟภ.) จะสังเกตเห็นได้ว่าเเต่ละการไฟฟ้ามีระบบเเรงดันที่ตัวเองจำหน่ายเเตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่การใช้งาน

เมื่อมาถึงในส่วนนี้ ไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านในสายไฟ ผ่านเสาไฟฟ้า (Distribution network) มาจ่ออยู่ที่หน้าหมู่บ้าน หน้าปากซอยของบ้านพวกเราเรียบร้อยเเล้ว ส่วนมากจะมีหม้อเเปลงตัวสุดท้ายที่เเขวนอยู่บนนั่งร้านบนเสาไฟฟ้าเเปลงไฟมาเป็นไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านจริงๆ (Consumer) คือ 400/230 V (กฟภ.) หรือ 416/240 V (กฟน.) โดยค่าที่มากข้างหน้าคือไฟ 3 เฟส (ลองเอา root 3 คูณดูสิ!) เเละค่าที่น้อยข้างหลังคือไฟ 1 เฟส เเต่เราจะเห็นค่า 380/230 V เเทนค่า 416/240 V โดยความเเตกต่างคือ 380/230 V เป็นค่าเเรงดันพิกัด (Nominal voltage) ที่การไฟฟ้านครหลวงเป็นคนกำหนด ส่วน 416/240 V คือเเรงดันทางด้าน secondary ของหม้อเเปลงหรือพูดง่ายๆ คือเเรงดันที่ออกมาหลังหม้อเเปลงนั้นเอง

ปล. เผื่อใครที่ยังไม่รู้ว่า กฟน. กับ กฟภ. ต่างกันยังไง? ขอพูดคร่าวๆ ว่าต่างกันที่พื้นที่ในการดูเเล กฟน. จะดูเเลในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ กทม. สมุทรปราการ เเละนนทบุรี ส่วน กฟภ. จะดูเเลในจังหวัดที่เหลือทั้งหมด เเละถ้าค่าไฟเเพงอย่าไปบ่น กฟน. กับ กฟภ. นะครับ เพราะหน่วยงานที่ดูเเลเรื่องค่าไฟฟ้าคือ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน)